โบราณสถานโนนแก อายุกว่า 2,000 ปี
แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณสถานโนนแก อายุกว่า 2,000 ปี ถูกค้นพบโบราณสถาน จำนวน 4 หลัง ตั้งอยู่ภายในกำแพงสิลาแลง เป็นซากอาคารที่สร้างทับซ้อนกันถึง 2 ยุคสมัยประวัติศาสตร์ ที่บ้านคูเมือง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
โบราณสถานโนนแก เป็นสถานที่ศักดิ์ คู่บ้านคู่เมือง ใครเข้ามาจะมีแต่โชคดี สมหวังในทุกเรื่องที่อธิฐาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ห่างออกมาประมาณ 1 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่บนเนินดินที่เรียกว่า โนนปู่ตา บริเวณเนินโบราณสถาน ประกอบด้วย ซากอาคารโบราณสถาน จำนวน 4 หลัง ด้วยกัน ตั้งอยู่ภายในกำแพงสิลาแลง เป็นซากอาคารที่สร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย สมัยแรก สร้างเนื่องในวัฒนธรรมขอมหรือเขมรใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ได้แก่ อาคารหลังทิศเหนือ และหลังทางทิศใต้มีอายุประมาณพุทธศวรรษที่ 17 – 18 อาคารสมัยที่ 2 ได้แก่ อาคารที่สร้างทับบนซากอาคารหลังทิศใต้ จำนวน 2 หลัง โดยมีใบเสมาหินทรายปักล้อมรอบ เป็นอาคารที่สร้างเนื่องในพุทธศาสนา ในราวพุทธศวรรษที่ 24 – 25 การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรม
{gallery}travel-2{/gallery}
- อาคารหมายเลข 1 อาคารหมายเลข 1 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 9 x 12.50 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง ก่อสูง 50 เซนติเมตร จากระดับพื้นผิวดินเดิม แกนอาคารด้านยาววางอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก อันเป็นแกนทิศสำคัญของโบราณสถาน ภายในขอบเขตของฐานมีแนวเสาไว้วางอยู่ตามแกนทิศสำคัญนี้อยู่ 4 แถวๆ ละ 6 ต้น เสาแถวในรองรับหลังคาเครื่องบน เสาแถวนอกรองรับโครงสร้างหลังคาปีกนก ผนังทั้ง 4 ด้าน เปิดโล่ง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) อาคารหมายเลข 1 นี้น่าจะใช้ประโยชน์เป็นวิหารโถง หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่มีรูปแบบเหมือนกับกระเบื้องดินเผาที่พบในกลุ่มโบราณสถานแบบศิลปะเขมร
- อาคารหมายเลข 2 อาคารหมายเลข 2 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 4.50x10 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.30 เมตร โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงผิวภายนอกฉาบปูน ก่อขึ้นสูง 1 เมตร จากผิวดิน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นห้องมุข มีผนัง 3 ด้าน เปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นผนังไม้ มีประตูทางเข้าสู่ตัวอาคาร มีผนัง 4 ด้าน สร้างด้วยไม้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 4 ต้น และมุขด้านหน้ามีเสารองรับหลังคาอีก 2 ต้น สันนิษฐานว่าผนังด้านหลังของอาคารจะสร้างติดกับแท่นฐานชุกชี ประดิษฐานพระประธาน โดยก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สูง ประมาณ 70 เซนติเมตร ซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิมทึบ” คือ สิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน
- อาคารหมายเลข 3 อาคารหมายเลข 3 เป็นอาคารแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6x9.80 เมตร สันนิษฐานว่ามีความสูง 6.70 เมตร สร้างหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก ชนกับด้านหน้าของอาคารหมายเลข 2 โครงสร้างฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนผนังก่อด้วยศิลาแลงหรืออิฐฉาบปูน ด้านหน้ามีบันไดทางเข้าโดยก่อเป็นมุข มีผนังสามด้านเปิดโล่ง ยกเว้นทางด้านตะวันออก เป็นผนังของซึ่งมีประตูทางเข้าสู่อาคาร ผนังสามด้านของอาคารก่อทึบมีช่องลมอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้รองรับกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ซึ่งหลังคาจะรองรับด้วยเสาไม้ภายในอาคารอาคารจำนวน 2 แถว แถวละ 3 ต้น และทางด้านหลังติดกับฐานพระจะมีเสาเพิ่มอีก 1 ต้น ตรงกลาง ทางด้านหน้ามีเสา 4 ต้น รองรับโครงหลังมุข
- อาคารหมายเลข 4 อาคารหมายเลข 4 เป็นซากโบราณสถานที่พังทลายหมดแล้ว เนื่องจากการลักขุดและดัดแปลงโบราณสถานในสมัยหลัง จึงไม่สามารถศึกษารูปแบบเดิมได้ อย่างไรก็ดีหลุมขุดตรวจฐานรากอาคารพบว่ามีร่องรอยการก่อสร้างฐานรากในสมัยเดียวกับอาคารหมายเลข 1 จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการก่อสร้างศาสนสถานประธาน ขึ้นในกลุ่มซากปรักหักพังของหินแลงได้ ประกอบกับตำแหน่งที่พบฐานรากเป็นตำแหน่งกึ่งกลางของแกนหลักของโบราณสถานด้วย จากหลักฐานที่พบใบเสมาหินจำนวน 7 คู่ วางหันหน้าเข้าหาอาคารหมายเลข 2 และ 3 และใบเสมา 1 คู่ วางตำแหน่งซ้อนอยู่บนแนวอาคารหมายเลข 1 คงจะหมายถึงการเลิกใช้ประโยชน์จากอาคารหมายเลข 1 และให้ความสำคัญกับอาคารหมายเลข 2 และ 3 แทน ซึ่งมีลักษณะอาคารที่เรียกว่า “สิม” ที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สามารถสรุปสมัยของแหล่งโบราณคดีที่พบ คือ
- สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคสำริด-เหล็ก) ประมาณ 2500 ปีมาแล้ว หลักฐานคือเนินดินสมัยก่อนประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุต่างๆ ปรากฏพบหลักฐานการฝังศพครั้งที่ 2 กำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 2000 ปีมาแล้ว และพบเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุราว 2000-1300 ปีมาแล้ว
- สมัยที่สอง สมัยที่สอง ชุมชนโบราณน่าจะมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากในระยะแรก คือช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือประมาณ 1400-1200 ปีมาแล้ว ตรงกับช่วงสมัยทวารวดี หลักฐานที่พบในสมัยนี้คือ เศษภาชนะดินเผา รูปทรงต่างๆ เช่น แจกัน หรือคนโท
- สมัยที่สาม สมัยที่สาม ชุมชนโบราณน่าจะมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยที่ 2 คืออยู่ในช่วงพุทะศตวรรษที่ 15-19 หรือประมาณ 1100 ปีมาแล้ว ตรงกับช่วงอิทธิพลเขมรในประเทศไทย โบราณสถานโนนแกสมัยที่ 1 คงจะสร้างในช่วงเวลานี้ หลักฐานที่พบ คือ ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ เครื่องถ้วยจีน และพบสระน้ำหรือบาราย ที่อยู่ห่างจากโบราณสถานไปประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบกิจกรรมการถลุงโลหะด้วย ซึ่งอาจจะใช้ภายในชุมชนหรือหรือผลิตเพื่อเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนก็ได้
- สมัยปัจจุบัน สมัยปัจจุบัน ตั้งแต่การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวลาวที่เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านในปัจจุบันประมาณ 200 ปีมาแล้ว และมีการใช้พื้นที่ในโบราณสถานโนนแกอีกครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24
ปัจจุบัน โบราณสถานโนนแก เป็นโบราณสถานร้าง ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน เส้นทางเข้าสู่แหล่งแหล่งท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ โบราณสถานโนนแก อยู่ห่างจากบ้านคูเมืองมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ จากตัวอำเภอวารินชำราบ ใช้ถนนกันทรลักษณ์ (ทางหลวงหมายเลข 2178) มุ่งหน้าทิศใต้ (มุ่งหน้าตำบลคูเมือง หรือมุ่งหน้าอำเภอกันทรลักษณ์) ผ่านแยกที่ตัดกับถนนเลี่ยงเมืองอุบลไปประมาณ 4.7 กิโลเมตร พบสี่แยก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านคูเมือง ไปตามถนนประมาณ 3.3 กิโลเมตร ถึงบ้านคูเมือง พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนน (ผ่านชุมชนบ้านคูเมือง ออกสู่ด้านทิศตะวันออกของชุมชน) ประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบสามแยกให้เบี่ยงซ้ายไปตามถนนลูกรัง (ตามป้าย โบราณสถานโนนแก ) ประมาณ 450 เมตร พบซอยด้านซ้ายมือ เลี้ยวไปตามถนนประมาณ 230 เมตร (ตามป้าย สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เทพนิมิตร ) ถึงโบราณสถานโนนแก
ที่มา : Guideubon.com